ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งในสังคมคือ การล้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งผู้เสนอประเด็นดังกล่าวนี้ยังเสนอต่อไปด้วยว่า รัฐควรจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในการพิจารณาว่าการศึกษาควรเป็นบริการที่รัฐจะต้องจัดหาให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ อาจสามารถพิจารณาได้จากหลากหลายมุมมองและหลากหลายวิธีคิด ในบทความนี้จะขอเสนอมุมมองที่ใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพิจารณาการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
เมื่อพิจารณาโดยใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ “การศึกษา” ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีขายอยู่ในตลาด แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือการศึกษาเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างไร เหมือนหรือต่างกับสินค้าอื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เสื้อผ้า บ้าน รถยนต์ หรือเครื่องจักรอย่างไร
การจะตอบคำถามนี้ในทางเศรษฐศาสตร์มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างน้อยใน 4 ประเด็น คือ การเป็น economics goods หรือเป็น free goods การเป็นสินค้าทุนหรือสินค้าบริโภค การเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกหรือไม่ และหากมีผลกระทบภายนอก ผลกระทบนั้นเป็นบวกหรือเป็นลบ และสุดท้ายการจัดสรรทรัพยากรผ่านตลาดนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร
เริ่มจากการพิจารณาว่า “การศึกษา” เป็น economic goods ไม่ใช่ free goods เพราะการศึกษามีต้นทุนในการผลิตไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากรทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ ค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มากมาย เมื่อการศึกษาเป็น economics goods ก็หมายความว่าสังคมจะต้องตระหนักว่าในการผลิตการศึกษานั้นต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรในสังคม
ในทางเศรษฐศาสตร์ ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาวิธีจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเมื่อสังคมนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ประโยชน์ในทางหนึ่งทางใด ก็ย่อมหมายความว่าสังคมจะเสียโอกาสในการนำทรัพยากรนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น